วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

นิทานเวตาล

นิทานเวตาล
ซึ่งพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (พระนามเดิม : พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ทรงพระนิพนธ์ขึ้น เมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยที่คุณค่าของนิทานเวตาลนั้น มิได้จำกัดเพียงประโยชน์ด้าน "วรรณคดีศึกษา" หากยังเป็นความรู้ด้าน "คติชนวิทยาตะวันออก" อีกด้วยโครงเรื่องของ นิทานเวตาล เริ่มต้นที่เรื่องราวของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ในฐานะกษัตริย์แห่งสังคมอินเดียยุคโบราณองค์หนึ่ง พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นามระบือสามารถทั้งการศึกและการปกครองไพร่ฟ้า แต่ถูก "โยคี" ตนหนึ่ง ซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้า มาทำอุบายแยบยลใกล้ชิด และลวงพระองค์ให้หลงกล ต้องสัญญาด้วยการบำเพ็ญความ "ข่ม" คือ อดกลั้นต่อความจ้วงจาบ เย้ยเยาะของ "เวตาล" ค้างคาวตัวใหญ่ ทรวดทรงหน้าตา อัปลักษณ์ดังซากศพ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเดินเรื่อง เล่านิทานซ้อนนิทาน เป็นช่วงๆ นำพาพระเจ้าวิกรมาทิตย์เดินทางมาถึงจุดหมายที่ "โยคี" กำลังกระทำพิธีสำคัญ ซึ่งก็คือพิธีลอบปลงพระชนม์พระองค์และพระราชโอรสนั่นเองความเพียรพยายามในการ "ข่ม" พระองค์เองให้ "นิ่ง" เป็นและ "แกล้งโง่" เป็น รวมทั้งการรู้จักระแวดระวังพระองค์ทุกระยะทุกฝีก้าวทุกขณะจิต เป็นผลให้เวตาลผู้ทำหน้าที่ตามคำบัญชาของ "โยคี"ผู้หมายปองร้ายพระราชาล่อลวง หยามหยันพระองค์ต่างๆ นานาไม่สำเร็จ และยังเกิดความสะเทือนใจ กลับเป็นฝ่ายช่วยเหลือแนะนำพระองค์ให้พ้นภัย ในตอนท้ายเรื่อง น.ม.ส. ทรงไขปัญหาความเป็นมาของเรื่องราว ผ่านคำพูดของเวตาล "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่นักรบ พระองค์จะรำลึกถึงคำ ซึ่งอสูรปัดพิบาลได้ทูลไว้ว่า ผู้ใดมุ่งจะฆ่าชีวิตพระองค์ๆ อาจตัดหัวผู้นั้นเสียก่อน ได้โดยครองธรรม แลในการข้างหน้าซึ่งจะเป็นไปตั้งแต่บัดนี้ พระองค์พีงปฏิบัติตามคำที่อสูรกล่าวนั้น... ข้าพเจ้าทูลให้รู้พระองค์และระวังพระองค์ให้จงหนัก"

ไม่มีความคิดเห็น: